ประวัติความเป็นมา
1. ยุคของแผนกสถิติและทะเบียน (พ.ศ. 2486 – 2505)
เมื่อแรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2486 ยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ งานทะเบียนนิสิตโดยตรง แต่ละคณะจะรับผิดชอบในการลงทะเบียนเรียนของนิสิต การออกเกรด การออก Transcript ของนิสิตคณะตัวเอง แต่จะมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่บันทึกทะเบียนประวัตินิสิตโดยเป็นผู้ออกเลขประจำตัวนิสิต บันทึกการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล บันทึกการลาออก และการสำเร็จการศึกษาของนิสิตแต่ละคน หน่วยงานนี้ คือ แผนกสถิติและทะเบียน สังกัดสำนักงานเลขานุการกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันก็คือ สำนักงานอธิการบดี หน่วยงานนี้จะรับผิดชอบในการบันทึกประวัติของข้าราชการด้วย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นแผนกประมวลสถิติและชีวประวัติในปี พ.ศ. 2505 แต่ยังคงทำหน้าที่ทั้งงานทะเบียนบุคลากรและงานทะเบียนนิสิตควบคู่กันไป แต่การดำเนินงานเกี่ยวกับการเรียนการสอน การออกใบรับรองต่าง ๆ ยังคงดำเนินการอยู่ที่คณะที่นิสิตสังกัด คณบดีเป็นผู้ลงนามในใบรับรองต่าง ๆ แต่การลงนามใน Transcript จะมีนายทะเบียน (Registrar) ของมหาวิทยาลัยเป็นผู้ลงนาม นายทะเบียนที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งได้แก่ ศาสตราจารย์จินดา เทียมเมธ (อดีตคณบดีคณะประมง) ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ (อดีตอาจารย์คณะกสิกรรมและสัตวบาลและอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
2. ยุคของสำนักงานทะเบียน (Office of the Registrar) พ.ศ. 2515 – 2519
ในปี พ.ศ. 2515 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ตั้งสำนักงานทะเบียน (Office of the Registrar) ขึ้นมาเป็นการภายใน โดยยังไม่เป็นส่วนราชการ และแยกงานทะเบียนนิสิตออกจากงานทะเบียนของบุคลากร โดยมีสำนักงานอยู่ที่ชั้นบนของอาคารสุวรรณวาจกกสิกิจ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่ทำการไปรษณีย์บางเขน) ทั้งนี้ได้โอนงานทะเบียนนิสิตที่อยู่ตามคณะต่าง ๆ มาอยู่ภายใต้หน่วยงานใหม่นี้ โดยโอนเฉพาะเอกสารของนิสิตที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2515 เป็นต้นมาเก็บที่หน่วยงานนี้
สำนักงานทะเบียน ในปี พ.ศ. 2515 มีอาจารย์ประทีป นุทกาญจนกุล ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นนายทะเบียน (Registrar) อาจารย์ปริญญา แย้มศิริ อาจารย์เผดิม ระติสุนทร อาจารยรรยง บุญหลง เป็นผู้ช่วยนายทะเบียน มีนางสาวพรพิมล สันติหิรัญภาค เป็นข้าราชการประจำหน่วยงานเพียงคนเดียวในขณะนั้น นอกนั้นเป็นบุคลากรที่ยืมตัวมาจากคณะต่าง ๆ
3. ยุคของกองบริการการศึกษา (พ.ศ. 2519 – 2534)
กองบริการการศึกษา ได้จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานใหม่ สังกัด สำนักงานอธิการบดี ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2519 เพื่อรองรับจำนวนนิสิตและคณะสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยโอนงานทั้งหมดของงานทะเบียนนิสิต (Office of the Registrar) มาสังกัด กองบริการการศึกษา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้แต่งตั้ง ดร.สำอาง ศรีนิลทา เป็นหัวหน้ากองบริการการศึกษา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2520 โดยมีรองศาสตราจารย์มนัส สุจวิพันธ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กระจ่าง วิสุทธารมณ์ เป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองบริการการศึกษา และกำหนดให้กองบริการการศึกษาย้ายไปยังอาคาร ตึก 1 ซึ่งเดิมเป็นหอพักนิสิตชายและได้ทำการปรับปรุงใหม่เพื่อรองรับการเป็นสำนักงานของ กองบริการการศึกษา และสำนักบริการคอมพิวเตอร์ โดยสำนักบริการคอมพิวเตอร์ใช้เฉพาะพื้นที่ชั้นล่าง ปีกขวาด้านติดกับกองกิจการนิสิต ที่เหลือเป็นพื้นที่ของกองบริการการศึกษา ต่อมาสำนักบริการคอมพิวเตอร์ ได้ก่อสร้างห้องคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมด้านหลังอาคาร เพื่อติดตั้งคอมพิวเตอร์ mainframe ยี่ห้อ PRIME เครื่องแรกของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยได้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ PRIME นี้ในการลงทะเบียนเรียนของนิสิตในปีการศึกษา 2522 เป็นต้นมา
ยุคของกองบริการการศึกษานี้เป็นช่วงที่มีการปรับปรุงระบบการลงทะเบียนครั้งใหญ่ มีการปรับปรุงรหัสวิชาจากเดิมที่เป็นภาษาไทย เช่น กีฏวิทยา 111 มาเป็น ENTO 111 เพื่อรองรับการลงทะเบียนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีการจัดทำใบกรอกคะแนนเพื่อบันทึกด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีการจัดทำ Student Grade Report รายบุคคล มีการรับชำระเงินค่าลงทะเบียนเรียนผ่านธนาคาร โดยมีธนาคารทหารไทย เป็นธนาคารแรกที่เข้ามาเป็นผู้รับชำระค่าธรรมเนียมการศึกษา
เมื่อมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการกองบริการการศึกษาแล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่มีการแต่งตั้ง นายทะเบียนอีก โดยหัวหน้ากองบริการการศึกษาได้ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนแทน ตั้งแต่ พ.ศ. 2519
ในช่วงของกองบริการการศึกษาก่อนที่จะแยกมาเป็นสำนักทะเบียนและประมวลผล มีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบริการการศึกษา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการกองบริการการศึกษา ) ดังนี้คือ
1. | ดร.สำอาง ศรีนิลทา | 17 พ.ย. 2520 – 12 พ.ค. 2521 |
2. | ดร.วิชา สุขกิจ | 2 พ.ค. 2523 – 20 มิ.ย. 2531 |
3. | รองศาสตราจารย์บพิธ จารุพันธ์ | 20 มิ.ย. 2531 – 12 ก.ค. 2533 |
4. | ศาสตราจารย์ ดร.ศุภมาศ พนิชศักดิ์พัฒนา | 12 ก.ค. 2533 – 1 ก.พ. 2534 |
5. | มล.รักเกียรติ ศุขสวัสดิ์ | พ.ศ. 2534 – 2536 |
ในปี พ.ศ. 2521 เป็นปีที่มีการเตรียมการขยายการศึกษาไปยังวิทยาเขตกำแพงแสน โดยมีเป้าหมายเคลื่อนย้ายนิสิตคณะเกษตร ปี 3 – 4 ยกเว้นสาขาคหกรรมศาสตร์ นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ ปี 5 – 6 นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 3 – 4 สาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร และนิสิต ปี 3 – 4 สาขาศึกษาศาสตร์ – เกษตร คณะศึกษาศาสตร์ ไปเรียนที่กำแพงแสน โดยเริ่มการเรียนการสอนในภาคปลาย ปีการศึกษา 2522 จึงมีการแต่งตั้ง ผู้ช่วยหัวหน้ากองบริการการศึกษา เพื่อปฏิบัติงานที่กำแพงแสน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พัทรา ประดิษฐวณิช์ เป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองประจำที่วิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อมีการตั้งกองบริการการศึกษา (กำแพงแสน) ขึ้นมา ภายหลังจึงแต่งตั้งผู้อำนวยการกองบริการการศึกษา (กำแพงแสน) โดยตรง
ในช่วงปลายของกองบริการการศึกษา มีการปรับระบบการลงทะเบียนเรียนครั้งใหญ่ คือ การปรับรหัสวิชาซึ่งเดิมมีตัวอักษรกับตัวเลข (ตัวอักษร A, B, C, D ไม่เกิน 8 ตัวอักษร และตัวเลข 3 หลัก) มาเป็นตัวเลขทั้งหมด 6 หลัก และมีการทดลองใช้เครื่องอ่านหมาย (Optical Mark Reader) ในการอ่านบัตรลงทะเบียนเรียนในภาคฤดูร้อน พ.ศ. 2534 และเปลี่ยนมาเป็นระบบลงทะเบียนเรียนแบบบันทึกข้อมูลต่อหน้านิสิตด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในปีการศึกษา 2534
4. ยุคของสำนักทะเบียนและประมวลผล (พ.ศ. 2536 – 2562)
ในปีการศึกษา 2533 เป็นปีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีนิสิตที่วิทยาเขตบางเขนเกินหมื่นคนแล้ว เมื่อรวมกับนิสิตวิทยาเขตกำแพงแสน จะมีนิสิตมากถึง 13,000 คน มีจำนวนหลักสูตรเพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวนมาก ทั้งหลักสูตรภาคปกติและภาคพิเศษ มีจำนวนรายวิชาที่เปิดสอนจำนวนมากถึง 4,000 รายวิชาต่อปี ทางมหาวิทยาลัยจึงเห็นสมควรที่จะยกฐานะกองบริการการศึกษา มาเป็น สำนักทะเบียนและประมวลผล (Office of the Registrar) มีฐานะเทียบเท่าคณะวิชา เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ชิตาภา เกตวัลห์ เป็นประธานคณะทำงานจัดตั้งสำนักทะเบียนและประมวลผล และผลสรุปสุดท้ายมหาวิทยาลัยเห็นชอบให้ดำเนินการได้ แต่เสนอเป็นโครงการใหม่ที่แยกงานทะเบียนและสถิตินิสิตออกจากกองบริการการศึกษา มาเป็น สำนักทะเบียนและประมวลผล ส่วนกองบริการการศึกษายังคงอยู่ แต่ปรับปรุงโครงสร้างใหม่ โดยให้สำนักทะเบียนและประมวลผลมีภาระงานตามโครงสร้างใหม่ แบ่งเป็น 5 ฝ่าย ได้แก่
1. ฝ่ายบริหารและธุรการ 2. ฝ่ายรับเข้าศึกษา
3. ฝ่ายทะเบียนและสถิติการศึกษา 4. ฝ่ายการเรียนการสอนและการสอบ
5. ฝ่ายคอมพิวเตอร์และช่วยระบบการศึกษา
ส่วนกองบริการการศึกษาให้แบ่งออกเป็น 5 งาน ได้แก่
1. งานธุรการ 2. งานทะเบียนและสถิติ
3. งานพัฒนาหลักสูตรและการสอน 4. งานส่งเสริมตำรา
5. งานบริการทางวิชาการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับการอนุมัติให้แบ่งส่วนราชการเป็นสำนักทะเบียนและประมวลผล ในปี พ.ศ. 2535 นั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้ขยายงานส่วนราชการ จึงได้รับอนุมัติให้เป็นหน่วยงาน ในระดับคณะแต่ไม่ให้มีการแบ่งส่วนราชการเป็นฝ่ายต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร และสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งตั้งขึ้นมาพร้อม ๆ กัน
ช่วงของการขอจัดตั้งสำนักทะเบียนและประมวลผล ในส่วนของการติดต่อประสานงานกับทบวงมหาวิทยาลัย ขออัตรากำลัง ครุภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นช่วงที่ มล.รักเกียรติ ศุขสวัสดิ์ เป็นหัวหน้า กองบริการการศึกษา จึงมีภาระงานที่ค่อนข้างมากในการติดต่อประสานงาน การจัดแบ่งบุคลากร แบ่งครุภัณฑ์และทำคำขออัตราใหม่ของสำนัก ซึ่งสามารถดำเนินการได้เสร็จทันก่อนจะมีการแบ่งแยกส่วนงานอย่างเป็นทางการ และในที่สุดสำนักทะเบียนและประมวลผลก็ได้รับการอนุมัติตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย ฉบับที่ 14 พ.ศ. 2535 ประกาศ ณ วันที่ 18 กันยายน 2535 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 104 ลงวันที่ 30 กันยายน 2535 ให้สำนักทะเบียนและประมวลผลเป็นส่วนราชการในลำดับที่ 21 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ในช่วงดังกล่าวการปฏิบัติงานยังอยู่ในการกำกับดูแลของกองบริการการศึกษาอยู่ เนื่องจากมหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงของการสรรหาผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและประมวลผล แต่ก็ได้มีการแบ่งบุคลากร ครุภัณฑ์ ระหว่างสำนักทะเบียนและประมวลผลกับกองบริการการศึกษา เสร็จเรียบร้อยแล้ว จนกระทั่งสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แต่งตั้งให้รองศาสตราจารย์บพิธ จารุพันธุ์ ข้าราชการ สังกัดภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและประมวลผล ในวันที่ 16 มีนาคม 2536 เป็นต้นไป โดยให้มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี หลักจากนั้นกองบริการการศึกษาก็ได้ย้ายไปอยู่ที่อาคารสารนิเทศ 50 ปี รวมกับกองต่าง ๆ ที่สังกัดสำนักงานอธิการบดี โดยมี คุณจันทร์ฉาย แย้มศิริ เจ้าหน้าที่ของกองบริการการศึกษา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้อำนวยการกองบริการการศึกษา สืบต่อจาก มล.รักเกียรติ ศุขสวัสดิ์
การดำเนินงานของสำนักทะเบียนและประมวลผล ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับปรุงระบบการลงทะเบียนเรียน ซึ่งได้ร่วมมือกับสำนักบริการคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องในการจัดหาครุภัณฑ์ที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในระบบงานทะเบียนนิสิต และมีการหารายได้จากการรับเป็นศูนย์สอบ สนามสอบ ของการสอบ Entrance สอบวัดความรู้ สอบ GAT-PAT A-NET O-NET และรับงานบริการวิชาการด้านการจัดสอบครบวงจร ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
จากการขยายตัวของงานด้านทะเบียนนิสิต อันเนื่องมาจากจำนวนนิสิตที่เพิ่มขึ้น และโครงการพิเศษในทุกระดับการศึกษาที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาคาร ตึก 1 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะรองรับการให้บริการ ประกอบกับอายุของอาคารเดิมซึ่งสร้างในปี 2498 มีลักษณะเสื่อมสภาพ
ไม่สามารถที่จะใช้สอยต่อไปอย่างปลอดภัยได้ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงให้ความสนับสนุนในการสร้างอาคารหลังใหม่ ด้านหลังของอาคารเดิม เป็นอาคารที่มีความสวยงาม มีพื้นที่ใช้สอยพอเพียง และมีหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเกี่ยวกับนิสิตมาอยู่ในอาคารเดียวกัน และอาคารหลังนี้ยังได้รับการอนุญาตให้ใช้ชื่อว่า อาคารระพีสาคริก อันเป็นมงคลนามอย่างยิ่ง เนื่องจากท่านศาสตราจารย์ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านเป็นผู้ที่นิสิตในขณะนั้น เคารพรัก และเรียกว่า คุณพ่อหรืออาจารย์พ่อ ท่านคลุกคลีใกล้ชิดกับนิสิตอย่างเป็นกันเอง ไม่ว่าจะเป็นงานของค่ายอาสาพัฒนานิสิต การกิจการนิสิตทุกกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬาและอื่น ๆ นายระพีสาคริก อาคารหลังใหม่ของสำนักทะเบียนและประมวลผลจึงเป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวสำนักทะเบียนและประมวลผลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนิสิตตลอดไป
มติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 7/2556 วันที่ 29 กรกฎาคม 2556 มีมติให้โอนย้ายกองบริการการศึกษา ศูนย์การศึกษานานาชาติ และศูนย์วิชาบูรณาการหมวดวิชาศึกษาทั่วไป รวมถึงทรัพยากรที่มีจากเดิมสังกัดสำนักงานอธิการบดี มาสังกัดสำนักทะเบียนฯ โดยแบ่งโครงสร้างภายในออกเป็น 1 สำนัก และ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย
– สำนักงานเลขานุการสำนักทะเบียนและประมวลผล
– ฝ่ายทะเบียนและประมวลผลการศึกษา
– ฝ่ายบริการการศึกษา
– ฝ่ายการศึกษานานาชาติ
– ฝ่ายวิชาบูรณาการหมวดวิชาศึกษาทั่วไป
ทั้งนี้ สำนักได้มีการปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อความสอดคล้องกับภารกิจของแต่ละฝ่าย และเพื่อรองรับการบริหารจัดการในเชิงรุกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอมหาวิทยาลัยพิจารณาและสภามหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติตามลำดับ